วันพุธที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การเขียนสระอ็อม

สระอ็อมในภาษาเขมร คือ អំ
คนไทยหลายๆ คนเคยชินกับการเห็นสระ อำ ในภาษาไทย​​ ที่ตัวกลมๆ จะอยู่บน ตัวพยัญชนะต้น ครั้นเขียนหรือพิมพ์ภาษาเขมรก็เลยเขียนหรือพิมพ์แบบนั้น ตามความเคยชิน เป็นทั้งคนสอนคนเรียน ลูกปูตามแม่ปู
ข้าพเจ้าเลยกลายเป็นคนจ้ำจี้จ้ำไชปากเปียกปากแฉะ กับสิ่งที่พูดไปแล้วซ้ำซาก
ในภาษาเขมรนั้น สระอ็อมจะอยู่บนสระ อา ចាំ​
ถ้าเขียนมือก็ต้องจำเอาไว้ให้ดี แต่ถ้าพิมพ์ด้วยระบบฟอนท์ก่อนมียูนิโค้ด ก็ต้องจำเทคนิคการพิมพ์ให้ถูกต้อง แต่ถ้าใช้ยูนิโค้ดสมัยใหม่มันจัดให้เสร็จสรรพ สบายดี
ประเด็นคือบางคนที่ใช้ยูนิโค้ดก็ไม่ค่อยสังเกตสังกา พอกลับไปเขียนก็อีหรอบเดิม เอาไปวางบนพยัญชนะต้นคือเก่า หรือเมื่อเห็นคนเขียนผิดก็ไม่ได้ฉุกใจเตือน แม่ปูกับลูกปูจึงยังเดินแบบเดิม
หน้าที่ของข้าพเจ้าจึงคอยจัดการทั้งแม่ปูและลูกปู ระวังเถอะสักวันจะจับไปทำละแวกะดาม

วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ตำแยกับพิธีเข้าร่มของหญิงเขมร

อ่านบทความวิชาการในเน็ต (ของดีที่เข้าถึงได้แม้ในขณะที่คุณใส่ชุดนอน) แล้วเจอพูดถึงพิธีเข้าร่มของหญิงเขมร จริงๆ เคยเขียนอธิบายไว้ในบล็อคแห่งหนึ่งไปแล้ว ในเรื่องนี้ว่าคืออะไร

ประเด็นคือในบทความนั้นกล่าวถึงว่าในขั้นตอนหนึ่งของพิธีออกจากร่มนั้น มีการขุดต้นไม้ชนิดหนึ่งมาทำพิธีด้วย โดยบอกว่าคือต้น "ตำแย" เราก็ตะหงิดๆ เล็กน้อย ครั้นไปสืบค้นดูในภาษาเขมรใช้คำว่า "แขญร"​ ​ ខ្ញែរ  ​ก็เลยไปเปิดพจนานุกรมชื่อพืชเขมร มันคือ หมามุ่ย (แต่หมามุ่ยบางคนก็เรียกมันว่าตำแย)

รื้อดูในเน็ตของเขมรปรากฏว่าไม่มีรูปให้ทัศนาเลย แต่มีคำว่า "หัว" ข้างหน้าพืชชนิดนี้ ดังนั้นอาจเป็นพืชมีหัว เราก็กลับไปสืบค้นต้นหมามุ่ยในข้อมูลภาษาไทย โดยมากบอกแต่ว่าเป็นเถา ไม่ได้ดว่ามีหัวหรือไม่มีหัว เลยยังไม่กระจ่าง ส่วน ตำแย แบบวัชพืชข้างบ้าน ไม่มีหัวอยู่แล้ว ที่พืชสองชนิดนี้มันพัวพันชื่อกันเพราะมันคันเหมือนกัน มีพิษต่อผิวหนังเละเนื้อเยื่อเหมือนกัน

ตอนนี้กำลังหาชื่อวิทยาศาสตร์ของตำแยไปเทียบกับชื่อเขมรว่าคือต้นอะไร รอว่างและอารมณ์ดีก่อน

ถามว่าเขาผิดไหมก็คงไม่ผิด แต่คำว่า ตำแย นั้นกำกวม ว่าจะหมายถึง ตำแยพืชล้มลุก หรือพืชเถาที่มีอีกชื่อว่าหมามุ่ย แล้วคนแปลนั้นจินตนาการเห็นต้นอะไรในความคิด ในพจนานุกรมไทย-เขมร ฉบับที่เพิ่งพิมพ์ก็แปลได้ใกล้เคียงกับการคาดคะเนของข้าพเจ้า

ก็คงต้องสืบเสาะต่อไป

วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

culture shock สำเนียงภาษาเขมร

ตอนพาเด็กๆ ไปเที่ยวกัมพูชาแล้วยืมแกร่วอยู่แถวๆ ด่าน ตม. เขมรที่ปอยเปตเพื่อรอรถมารับนั้น ก็มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างแวะเวียนมาถามเผื่อใช้บริการแล้วก็นั่งคุยกันเจาะแจ๊ะอยู่ใกล้ๆ บนมอเตอร์ไซค์ของพวกเขา

เด็กๆ ก็ยืนฟังกันโดยไม่สนใจ เวลาผ่านไปครู่หนึ่งเด็กคนหนึ่งก็ตกใจที่รู้ว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างเหล่านั้นพูดภาษาเขมรกัน นึกว่าพูดกันเป็นภาษาเวียดนาม ท่าทางเด็กประหลาดใจมาก ถึงแม้ว่าเด็กคนนั้นจะเป็นเขมรสุรินทร์และเรียนเอกภาษาเขมรก็ตาม รวมทั้งเคยเจออาจารย์ที่มาจากพนมเปญด้วย

เด็กคนนั้นเข้าใจว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างเหล่านั้นคุยกันด้วยภาษาเวียดนามเพราะว่าสำเนียงในกัมพูชาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพนมเปญนั้นมีลักษณะแตกต่างจากภาษาเขมรสุรินทร์ที่คุ้นชินหลายๆ ประการ โดยเฉพะภาษาพูด

และก็มากพอขนาดที่คนเรียนภาษาเขมรมาแล้วยังไม่สามารถจับได้ แล้วดันนึกว่าเป็นภาษาเวียดนามไปซะ ส่วนภาษาของอาจารย์ที่มาจากพนมเปญก็จะมีสำเนียงภาษาพูดอีกแบบหนึ่งซึ่งเป็นทางการ และยังคงมีความแตกต่างจากภาษาของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

ก็เลยบอกไปว่า ตอนข้าพเจ้าไปเหยียบพนมเปญวันแรก แล้วเขาพาเข้าไปซื้อของในตลาดสดนั้น ได้ยินแม่ค้าคุยกันยังนึกว่าคุยกันเป็นภาษาเวียดนามเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ตัวเราก็เขมรสุรินทร์เช่นกัน

ความแตกต่างเล็กน้อยระหว่างข้าพเจ้ากับเด็กคนนั้นคือ ข้าพเจ้ามีพื้นเรียนเอกภาษาไทยและเคยเรียนภาษาเขมรมาตัวเดียวในชื่อวิชาภาษาเขมรในภาษาไทย ส่วนเด็กคนนี้เรียนเอกภาษาเขมรและเคยเจออาจารย์ที่มาจากพนมเปญมาแล้ว

ยังไม่นับอาจารย์สอนภาษาเขมรอีกสองสามคนที่มีพื้นมาจากอีสานใต้แล้วพยายามปรับสำเนียงตัวเองให้เป็นเขมรมาตรฐานแบบได้บ้างไม่ได้บ้าง มั่วบ้าง (ข้าพเจ้าเป็นหนึ่งในนั้น) ซึ่งไม่ตำหนิเพราะการปรับสำเนียงให้เป็นอื่นนั้นเป็นงานช้าง ลองไปดูครูสอนภาษาอังกฤษทั่วประเทศไทยเอาเถอะว่าสำเนียงเป็นฝรั่งกันแค่ไหน

ประเด็นอีกอย่างคือภาษาเขียนและมาตรฐานที่เรียนกันในห้องเรียนนั้นมันแตกต่างจากภาษาพูดของชาวบ้านชาวช่องพอสมควร เลยทำให้ฟังครั้งแรกในชีวิตเมื่อเจอของจริงแล้วไพล่เข้าใจไปว่าเป็นภาษาเวียดนาม

เออ แล้วทำไมต้องลากไปหาภาษาเวียดนาม ทั้งๆ ที่ข้าพเจ้าและเด็กคนนั้นไม่รู้ภาษาเวียดนาม อาจเป็นเพราะหนึ่งลักษณะบางประการที่จับได้มันคงไม่ใช่ภาษาจีนที่เคยพอเคยได้ยินได้ฟังมาบ้าง แล้วสำเนียงพยางค์เดียวโดดๆ มีเสียงสูงๆ ต่ำๆ ภาษาแถวๆ นี้ก็มีเวียดนาม ดังนั้นจึงสันนิษฐานไปว่าน่าจะเป็นเวียดนาม

แล้วแม่ค้าในตลาดพนมเปญที่ข้าพเจ้าเจอตอนนั้นก็ขาวๆ กันจึงดูเหมือนเวียดนามไปกันใหญ่ แต่พวกมอเตอร์ไซค์รับจ้างตรงปอยเปตก็มิได้ขาวดุจไข่ปอก ดังนั้นสำเนียงพูดจึงน่าเป็นข้อมูลหลักในการคาดเดา

แต่ไม่แน่ใจว่า หลังจากจับได้ว่าคุยภาษาเขมรกันแล้วไม่ทราบว่าเด็กคนนั้นจะล้างหูแล้ว พยายามจับได้ไหมว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างเหล่านั้นคุยว่าอะไรกันบ้าง น่าสนใจนะ

สรุปว่าการเรียนรู้ในห้องเรียนอย่างเดียวก็คงไม่พอ ควรต้องได้สัมผัสของจริงด้วยเท่าที่จะหาโอกาสได้ สุดท้ายนี้อยากให้ผู้บริหารมาอ่านเจอจังเลย เผื่อจะอนุมัติโครงการต่างๆ ได้ง่ายขึ้นในอนาคต

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

นครโคกทะโลกของเขมร คือต้นอะไรกันแน่

ก็อ่านเอกสารนั่นนี่ไปเรื่อยเปื่อย วันดีคืนดีก็ไปเจอเอกสารที่เขียนว่า นครโคกทะโลกในตำนานของเขมรนั้น คือต้นหมัน

เราก็ว่าเราเคยตรวจสอบจากหนังสือรายชื่อพืชของไทยและของเขมรแล้ว (ไม่ใช่แค่เปิดพจนานุกรม) และเคยเขียนสะเปะสะปะในกระทู้มาบ้างแล้วว่า มันคือต้นมะพอก

ตรวจสอบแล้วชื่อพืชของไทยที่มักจะมีชื่อภาษาท้องถิ่นกำกับด้วยก็มีชื่อภาษาเขมรออกเสียงใกล้เคียงกับ ทะโลก

ตรวจสอบชื่อพืช ធ្លក ธโลก ในภาษาเขมร มีชื่อวิทยาศาสตร์ตรงกันกับมะพอกของไทยส่วนต้นหมันมีชื่อวิทยาศาสตร์ไปคนละทาง

เราไม่แน่ใจว่า กระแสที่แปลว่าต้นหมันนั้นมาจากไหน แต่เราอ่านเจอครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ที่มีสกุ๊ปพิเศษทาด้านวัฒนธรรมในวันอาทิตย์ และนิตยสารทางด้านศิลปวัฒนธรรมฉบับหนึ่งก็เคยลงไปแล้วว่าคือต้นมะพอก

วันดีคืนดีก็มาพบอีกในงานที่กำลังจะกลายเป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก

จึงขอเขียนชี้แจง ณ ที่นี้ เป็นข้อมูล แลหากไม่เชื่อก็สามารถไปสืบค้นหนังสือรายชื่อพืชของไทยแล้วไปเปรียบเทียบกับของเขมรดูได้
 ดูข้อมูลต้นมะพอก

วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

คำยืมจากภาษาเขมรมักไม่ปรากฏรูปวรรรยุกต์จริงหรือ

มีคนบอกว่า คำยืมจาภาษาเขมรมักไม่มีรูปวรรณยุกต์ และใช้เกณฑ์นี้เป็นเกณฑ์หนึ่งในการพิจารณาคำยืมจากภาษาเขมร คำยืมจากภาษาเขมรที่เข้ามาแล้วไม่ปรากฏรูปวรรณยุกต์ก็มากมาย เช่น ซัก(ถาม) กระจับ กระจก จับ ทัน แจง แจก ฯลฯ

ก็คงใช่ส่วนหนึ่ง เพราะภาษาเขมรไม่มีวรรณยุกต์ มีไม่กี่คำที่ปรากฏรูปวรรณยุกต์ที่ใกล้เคียงกับจัตวา ซึ่งมักเป็นคำลงท้ายประโยค

แต่พอไปรื้อค้นบัญชีคำที่จดเอาไว้ ปรากฏคำยืมจากภาษาเขมรที่เข้ามาในภาษาไทยหลายคำปรากฏรูปวรรณยุกต์ขึ้นมา จะลองยกมาดูแล้วตอบเอาเองว่ามากพอไหม

รูปวรรณยุกต์เอก
กระดิ่ง กระท่อม กระเท่เร่ กระเส่า กระหยิ่ม กระอักกระอ่วน กร่าง(ต้นไม้) กร่าง(ท่าทาง) กริ่ง(เกรง) กรุ่น ก่อ(กริยา) ก่อ(ต้นไม้) คั่น ก่าย กาเหว่า ข่ม ขลุ่ย เขม่า โข่ง คร่ำ คร่ำคร่า ค่อม คั่ง คู่ แคร่ โค่ง โคร่ง เงี่ยน จ่า(หน้าซอง) จ่าย ฉ่ำ (ลูก)ช่วง ช่วย(บางคนว่าเขมรยืมไทย) ชั่ว ช่าง เชี่ยน(หมาก) เชื่อง ซ่าน ตรู่ ต่องแต่ง ตอม่อ ตะพุ่น ตะล่อม ต่าง(หน้า) ตุ่ม ถล่ม (เดิน)ท่อมๆ ทั่ว เที่ยง นี่ นู่น โน่น บ่ง ป่วน ปะแล่ม ป่าน(ฉะนี้) โป่ง พึ่ง พุ่ม เพลี่ยง ไพร่ มะกล่ำ มั่น เมื่อย แม่ แม่น ยี่สก เยี่ยม ร่วม ระหว่าง เร่ เรื่อง เรื่อย เรื่อยเปื่อย ล่ม ละม่อม ละมั่ง ละหุ่ง ลั่น แล่ สง่า สว่าง สะพรั่ง สะเหล่อ สาหร่าย เสงี่ยม เสน่ง หน่าย หม่อน เหนื่อย เหวี่ยง แหย่ง แหล่ง อีโหน่อีเหน่

รูปวรรณยุกต์โท
กระเบื้อง กระพุ้ง กว้าน-คว้าน ก้อง กั้น กำพร้า กิ้งโครง เก้งเค้ง แกล้ง แก้ว ขม้ำ ขย้ำ ขยี้ ขว้าง เขวี้ยง ขว้าว ขึ้ง แข้ง ครั้น คร้าม คลุ้ง(ต้นไม้) คว้า ค้ำ (ต้ม)โคล้ง ฆ้อง(มีใช้หลายภาษาแถวๆ นี้) จ้าน จ้ำ จิ้งจก จิ้งจอก จิ้งเหลน แจ้ ชั้น ช้ำ ด้น ด้วย ดักแด้ ด้าม (ช้าง)ต้น ต้วมเตี้ยม ต้อยตีวิต ตะกร้อ ตะกร้า ตะไคร้ ตุ้ม ไถ้ ท้น ท้วน ทั้ง นี้ นู้น บ้อง (ตัว)บึ้ง พร้อม พลั้ง มุ้ง ม้วน แม้น ยิ้ม ยิ้มแย้ม แย้ รั้ง ร้าน รื้อ ล้ม ล้วง ล้อม ละล้าละลัง สมุลแว้ง สร้าง สล้าง หม้าย ห้าว เหง้า อ้วก อ้าเอี้ยด

รูปวรรณยุกต์ตรี
กระต๊อบ (ไหล)โจ๊ก ตุ๊กแก

รูปวรรณยุกต์จัตวา
กระป๋อง จั๋งหนับ เป๋อเหลอ เอ๋ย

เว้นเสียแต่ว่าคำข้างต้นตรวจสอบได้ว่าเป็นคำจีน หรือภาษาอื่นก็สามารถตัดไป หรือหากคิดว่าเป็นคำไทยที่เขมรยืมก็ตัดไปได้ อย่างไรเสียก็มีจำนวนไม่น้อยอยู่ดี

ดังนั้น เราจะใช้เกณฑ์ที่ว่าคำยืมจากภาษาเขมรมักไม่ปรากฏรูปวรรณยุกต์นั้นได้หรือเปล่า ลองพิจารณาดูครับ

วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กระบือ คำยืมจากภาษาเขมรหรือไม่

คนโดยมากเข้าใจว่าคำว่า กระบือ เป็นคำยืมจากจากภาษาเขมร ก็ใช่ส่วนหนึ่งนะ ไทยน่าจะรู้จักคำนี้ผ่านเขมร แต่เขมรเอามาจากไหนต้องคิดอีกรอบ

คำนี้มีในวงคำศัพท์ของตระกูลออสโตรเนเชียน มีกระจัดกระจายหลายภาษา ออกเสียงเหมือนบ้างต่างบ้าง ลองคียืในเน็ตดู ภาษาอินโดนีเชียและมาเลเชียเขียนว่า kerbau ส่วนตากาล็อกเห็นเขียน carabao

ตระกูลภาษาออสโตรเนเชียนเป็นคนละตระกูลกับตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติกซึ่งเขมรเป็นสมาชิกในนี้

แต่ดูเหมือนสระ อือ ในคำ กระบือ นั้นจะได้รับมาจากภาษาเขมรโบราณ ส่วนปัจจุบันเขียนสระ อี แต่อ่านว่า เอ็ย เพราะตัว บ อยู่ในพยัญชนะชุดที่ต้องอ่านเป็นสระ เอ็ย เมื่อเขียนด้วยสระ อี

ที่บอกว่าเขมรโบราณนั้นไม่ได้ดูจากจารึกหรอก เพราะสระ อื ในภาษาเขมรโบราณไม่มี แต่มีภาษาเขมรถิ่นที่จันทบุรี ออกเสียงสระของพยางค์หลังเป็น เออ-อือ แล้วคำนี้ในภาษาไทยก็เขียนด้วยสระ อือ

เลยสงสัยว่าสระในเขมรโบราณน่าจะเป็น *อือ

ย้อนกลับมาว่าเขมรเองก็น่าจะยืมมาจากกลุ่มภาษาในตระกูลนี้ เช่น มลายู จาม ชวา ฯลฯ แต่ภาษาจามเรียกควายว่าอะไรไม่รู้ 

ดังนั้นการระบุว่าคำ กระบือ นั้น ไทยยืมมาจากเขมรก็อาจถูก แต่ไม่ถูกทั้งหมด เขมรเองอาจเอามาจากภาษาอื่นต่อ แต่ตอบไม่ได้ว่าคำดั้งเดิมของเขมรเองนั้น เรียก ควาย ว่าอะไร อาจต้องไปหาเอาในภาษาของชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในตระกูลย่อยมอญ-เขมร แต่มอญรู้สึกจะมีคำของเขาเอง ลืมแล้วเคยจดเอาไว้

ประวัติของคำนั้นซับซ้อน บางทีเจอคนเขียนสั้น ๆ ว่า กระบือ ยืมมาจากภาษาเขมร แล้วจำ ๆ กันไปก็แอบเบื่อ

จึงเขียนไว้เผื่อใครมาอ่านเจอ
 

วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การกร่อนเสียงในภาษาเขมร

ภาษาเขมรที่ใช้ในพนมเปญ เมื่ออยู่ในการสนทนาแบบไม่เป็นทางการ หรือ อาจเรียกได้ว่า low register จะมีการออกเสียงโดยการงดออกเสียงบางเสียง

๑ คำสองคำให้สั้นลงได้ เช่น

 តែម្តង      เลย (คำลงท้ายประโยค)

แต มดอง > ตะมอง
(สองคำมีสองพยางค์กร่อนเหลือพยางค์เดียวหรือพยางค์ครึ่ง)

ហេតុអី​​   ทำไม, เหตุใด

แฮต เอ็ย > เฮ็ย
(สองคำมีสองพยางค์กร่อนเหลือพยางค์เดียว และปรากฏทำนองเสียงสูงขึ้น)
คำนี้มักจะเกิดในเงื่อนไขที่ปรากฏขึ้นโดดๆ ทำนองอุทาน ไม่ค่อบพบว่าปรากฏในประโยคยาวๆ

ធ្វើអ្វី​   ทำอะไร, ทำไม

ทเวอ อเว็ย > เท็ย
(สองคำมีสองพยางค์กร่อนเหลือพยางค์เดียว และปรากฏทำนองเสียงสูงขึ้น)

๒ คำสองพยางค์กร่อนเหลือพยางค์เดียว

របស់​   ของ

โรเบาะห์-ระเบาะห์ > เพาะห์
(คำเดียวมีสองพยางค์กร่อนเหลือพยางค์เดียว)
แต่จะเกิดในเงื่อนไขที่อยู่ในประโยคสนทนาแล้วมีนามหรือสรรพนามต่อข้างหลังเท่านั้น เช่น บ้านของฉัน, เงินของแม่

ប៉ុន្មាន   เท่าไหร่

ปนมาน > หมาน
(คำเดียวมีสองพยางค์กร่อนเหลือพยางค์เดียวและปรากฏระดับเสียง)

เรียนภาษาเขมร

ខ្ញុំនៅលីវទេចាស

คญม เนิว็ ลีว เต จาห์

ฉันยังโสดอยู่ค่ะ

នាងខ្ញុំនៅជាមួយអ្នកម្តាយ​ពីរនាក់ចាស

เนียง คญม เนิว็ เจีย มวย เนียะ มดาย​ ปี เนียะ จาห์

ดิฉันอยู่กับคุณแม่สองคนค่ะ