วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ตำแยกับพิธีเข้าร่มของหญิงเขมร

อ่านบทความวิชาการในเน็ต (ของดีที่เข้าถึงได้แม้ในขณะที่คุณใส่ชุดนอน) แล้วเจอพูดถึงพิธีเข้าร่มของหญิงเขมร จริงๆ เคยเขียนอธิบายไว้ในบล็อคแห่งหนึ่งไปแล้ว ในเรื่องนี้ว่าคืออะไร

ประเด็นคือในบทความนั้นกล่าวถึงว่าในขั้นตอนหนึ่งของพิธีออกจากร่มนั้น มีการขุดต้นไม้ชนิดหนึ่งมาทำพิธีด้วย โดยบอกว่าคือต้น "ตำแย" เราก็ตะหงิดๆ เล็กน้อย ครั้นไปสืบค้นดูในภาษาเขมรใช้คำว่า "แขญร"​ ​ ខ្ញែរ  ​ก็เลยไปเปิดพจนานุกรมชื่อพืชเขมร มันคือ หมามุ่ย (แต่หมามุ่ยบางคนก็เรียกมันว่าตำแย)

รื้อดูในเน็ตของเขมรปรากฏว่าไม่มีรูปให้ทัศนาเลย แต่มีคำว่า "หัว" ข้างหน้าพืชชนิดนี้ ดังนั้นอาจเป็นพืชมีหัว เราก็กลับไปสืบค้นต้นหมามุ่ยในข้อมูลภาษาไทย โดยมากบอกแต่ว่าเป็นเถา ไม่ได้ดว่ามีหัวหรือไม่มีหัว เลยยังไม่กระจ่าง ส่วน ตำแย แบบวัชพืชข้างบ้าน ไม่มีหัวอยู่แล้ว ที่พืชสองชนิดนี้มันพัวพันชื่อกันเพราะมันคันเหมือนกัน มีพิษต่อผิวหนังเละเนื้อเยื่อเหมือนกัน

ตอนนี้กำลังหาชื่อวิทยาศาสตร์ของตำแยไปเทียบกับชื่อเขมรว่าคือต้นอะไร รอว่างและอารมณ์ดีก่อน

ถามว่าเขาผิดไหมก็คงไม่ผิด แต่คำว่า ตำแย นั้นกำกวม ว่าจะหมายถึง ตำแยพืชล้มลุก หรือพืชเถาที่มีอีกชื่อว่าหมามุ่ย แล้วคนแปลนั้นจินตนาการเห็นต้นอะไรในความคิด ในพจนานุกรมไทย-เขมร ฉบับที่เพิ่งพิมพ์ก็แปลได้ใกล้เคียงกับการคาดคะเนของข้าพเจ้า

ก็คงต้องสืบเสาะต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: